วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ตำนานแม่น้ำโขง



ตำนานแม่น้ำโขง


         เมืองหนองกระแส (ปัจจุบันคือเมืองยูนนาน ประเทศจีน) ได้มีพญานาค 2 ตนปกครองเมืองนี้ร่วมกัน เมืองครึ่งหนึ่งปกครองโดย "พญาศรีสุทโธ" ส่วนอีกครึ่งปกครองโดย "พญาสุวรรณนาค" ซึ่งแต่ละฝ่ายมีบริวารข้างละ 500,000 ตน ทั้งคู่เป็นเพื่อนรักกันและร่วมกันปกครองด้วยความสงบสุข คอยช่วยเหลือกันมาตลอดเวลา แต่ว่าก็มีกฏอย่างหนึ่งก็คือ "หากฝ่ายใดออกไปหาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งต้องอยู่ที่เมือง เพราะกลัวบริวารของตัวเองมีเรื่องกัน และเมื่อได้อาหารมาแล้ว ก็ต้องแบ่งอีกฝ่ายครึ่งๆอย่างเท่าเทียมกันด้วย"

       จนวันหนึ่ง พญาศรีสุทโธพาบริวารออกล่าเนื้อ ก็ได้ช้างใหญ่ตัวหนึ่งกลับมา และตามสัญญา พญาศรีสุทโธได้แบ่งช้างให้พญาศรีสุรรณนาคครึ่งหนึ่ง ซึ่งมีทั้งหนัง ทั้งขนติดไปด้วย วันถัดมา พญาสุวรรณนาคก็ออกไปล่าเนื้อและได้เม่นกลับมา และก็ตามกฏครับ พญาสุวรรณนาคก็ได้แบ่งเนื้อให้พญาศรีสุทโธ ทั้งหนังทั้งขน แต่พอพญาศรีสุทโธเห็นเนื้อที่เพื่อนรักแบ่งมาให้ ดราม่าก็เริ่มเกิดทันที 


พญาศรีสุทโธเมื่อเห็นเนื้อเม่นแวบแรก ก็คิดว่า "ทำไมเนื้อมันน้อยจังฟระ" และเมื่อลองไตร่ตรองดู ท่านก็ลองเปรียบเทียบกับช้างที่ท่านจับได้ว่า "ช้างที่จับได้เมื่อวาน ขนมันนิดเดียว แต่ตัวใหญ่ซะขนาดนั้น แต่เม่นมันมีขนใหญ่กว่าช้างตั้งหลายเท่า มันก็ต้องตัวใหญ่และมีเนื้อเยอะกว่าช้างสิ" ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงสรุปว่า พญาศรีสุวรรณนาคขี้โกงที่แบ่งเนื้อมาให้น้อย พร้อมกับคืนเนื้อที่ได้รับแบ่งมาจากพญาสุวรรณนาค 

เมื่อพญาสุวรรณนาคทราบเรื่องเข้า ก็รีบเดินทางไปอธิบาย แต่อธิบายไปเท่าไหร่ พญาศรีสุทโธไม่ยอมฟังครับ สุดท้ายทั้งคู่จึงประกาศทำสงครามกัน ซึ่งกินเวลาถึง 7 ปี เดือดร้อนกันไปทั้ง 3 โลกเลยทีเดียว ลามไปถึงพระอินทร์ที่อยู่บนสวรรค์ ก็ต้องรีบลงมาห้ามสงครามและหาทางออกให้ทั้งคู่ โดยกำหนดว่า ให้ทั้งคู่แข่งกันว่ายน้ำจากหนองกระแสไปถึงทะเล โดยมีภูเขาพญาไฟ(คาดว่าน่าจะเป็นเทือกเขาดงพญาเย็น)เป็นเขตกั้น หากใครข้ามไปทำร้ายอีกฝั่ง ขอให้ไฟจากภูเขาเผาไหม้ให้วอดไปจนตาย และเมื่อใครว่ายไปถึงทะเลก่อน ก็ได้ปลาบึกไปเป็นแหล่งอาหารในแม่น้ำของฝ่ายที่ชนะ 


เมื่อสิ้นความพระอินทร์แล้ว พญาศรีสุทโธจึงรับสั่งให้บริวารช่วยกันขุดทางไปทะเล แต่ด้วยความเป็นนาคใจร้อน พอเจอภูเขาขวางก็จะพากันอ้อมไปเรื่อยๆ โดยไม่เสียเวลาขุด ซึ่งแม่น้ำนี้ก็คือ"แม่น้ำโขง" ในปัจจุบัน โดย โขง มาจากคำว่าโค้ง เพราะแม่น้ำโขงมีเส้นทางคดเคี้ยวมาก ส่วนทางด้านพญาสุวรรณนาคนั้น เป็นนาคที่ใจเย็นและคิดว่า ทางตรงๆมันต้องถึงเร็วกว่าทางอ้อมๆแน่ ดังนั้น เวลาขุดทางไปทะเล จึงละเมียดละไมค่อยๆขุดไปเรื่อยๆอย่างพิถีพิถัน ซึ่งต่อมาก็ได้กลายมาเป็น "แม่น้ำน่าน" และได้รับการกล่าวขานว่า เป็นแม่น้ำที่ตรงกว่าแม่น้ำทุกสายที่มี 

ความเชี่ยวของแม่น้ำน่าน(ซ้าย)ไหลนิ่งๆ ต่างจากแม่น้ำโขง(ขวา)ที่ค่อนข้างเชี่ยว สื่อถึงอารมณ์ของพญานาคทั้ง 2 ตนเลย 

ผลการแข่งครั้งนี้ ชัยชนะตกเป็นของฝ่ายพญาศรีสุทโธ ซึ่งก็ได้ปลาบึกไปครอบครองในแม่น้ำที่ขุดไว้ แต่พญาศรีสุทโธได้บอกกับพระอินทร์ไว้ว่า เผ่าพันธ์ุนาคของตนเองไม่สามารถอยู่บนโลกมนุษย์นานๆได้ จึงขอทำทางขึ้นลงระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองบาดาลไว้ 3 ที่ ซึ่งมี 

1. ที่ธาตุหลวงนครเวียงจันทน์ 
2. ที่หนองคันแท 
3. พรหมประกายโลก 

โดยแหล่งที่ 1 กับ 2 ถูกกำหนดให้เป็นทางลงเมืองบาดาลอย่างเดียว ส่วนที่พรหมประกายโลก ให้ไปตั้งหมู่บ้านเฝ้าเอาไว้ และให้เอาต้นชะโนดไปปลูกไว้เป็นสัญลักษณ์ (ต้นชะโนดมาจากกการเอาต้นมะพร้าว ต้นตาล ต้นหมาก มาผสมในสัดส่วนที่เท่ากัน) และต่อมาก็ได้กลายมาเป็นคำชะโนดที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน 
แหล่งข้อมูลจาก http://board.postjung.com/678619.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น