วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

งานบุญกฐิน





งานบุญกฐิน

พิธีทอดกฐินเป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง ท่านจึงจัดเป็น  กาลทาน แปลว่า ถวายตามกาลสมัยคำว่า "กฐิน" มีความหมายที่เกี่ยวข้องกันอยู่หลายความหมายดังนี้
          กฐินที่เป็นชื่อของกรอบไม้กรอบไม้แม่แบบสำหรับทำจีวร ซึ่งอาจเรียกว่าสะดึงก็ได้ เนื่องจากในครั้งพุทธกาลการทำจีวรให้มีรูปลักษณะตามที่กำหนดกระทำได้โดยยาก จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ เพื่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำเป็นผ้านุ่งหรือผ้าห่ม หรือผ้าห่มซ้อนที่เรียกว่าจีวรเป็นส่วนรวม ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ ในภาษาไทยนิยมเรียก ผ้านุ่ง ว่า สบง ผ้าห่ม ว่า จีวร และ ผ้าห่มซ้อน ว่า สังฆาฏิ
การทำผ้าโดยอาศัยแม่แบบเช่นนี้ คือทาบผ้าลงไปกับแม่แบบแล้วตัดเย็บย้อม ทำให้เสร็จในวันนั้นด้วยความสามัคคีของสงฆ์ เป็นการร่วมใจกันทำกิจที่เกิดขึ้นและเมื่อทำเสร็จ หรือพ้นกำหนดกาลแล้ว แม่แบบหรือกฐินนั้นก็รื้อเก็บไว้ใช้ในการทำผ้าเช่นนั้นในปีต่อๆ ไป การรื้อแบบไม้นี้เรียกว่า เดาะ ฉะนั้น คำว่ากฐินเดาะ หรือ เดาะกฐิน จึงหมายถึงการรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้า
          กฐินที่เป็นชื่อของผ้าหมายถึงผ้าที่ถวายให้เป็นกฐินภายในกำหนดกาล 1 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ผ้าที่จะถวายนั้นจะเป็นผ้าใหม่ หรือผ้าเทียมใหม่ เช่น ผ้าฟอกสะอาด หรือผ้าเก่า หรือผ้าบังสุกุล คือผ้าที่เขาทิ้งแล้ว และเป็นผ้าเปื้อนฝุ่นหรือผ้าตกตามร้านก็ได้ ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ เป็นภิกษุหรือสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วก็เป็นอันใช้ได้
          กฐินที่เป็นชื่อของบุญกิริยา คือการทำบุญคือการถวายผ้ากฐินเป็นทานแก่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ 3 เดือน เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าห่มใหม่ จะได้ใช้ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด การทำบุญถวายผ้ากฐิน หรือที่เรียกว่า ทอดกฐิน คือทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำว่าถวายในท่ามกลางสงฆ์ เรียกได้ว่าเป็น กาลทาน คือการถวายก่อนหน้านั้น หรือหลังจากนั้นไม่เป็นกฐิน ท่านจึงถือโอกาสทำได้ยาก
           กฐินที่เป็นชื่อของสังฆกรรมคือกิจกรรมของสงฆ์ก็จะต้องมีกานสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อทำจีวรสำเร็จแล้วด้วยความร่วมมือของภิกษุทั้งหลายก็จะได้เป็นโอกาสให้ได้ช่วยกันทำจีวรของภิกษุรูปอื่น ขยายเวลาทำจีวรได้อีก 4 เดือน ทั้งนี้เพราะในสมัยพุทธกาลการหาผ้า การทำจีวรทำได้โดยยาก ไม่ทรงอนุญาตให้เก็บสะสมผ้าไว้เกิน 10 วัน แต่เมื่อได้ช่วยกันทำสังฆกรรมเรื่องกฐินแล้วอนุญาตให้แสวงหาผ้าและเก็บไว้ทำเป็นจีวรได้จนตลอดฤดูหนาว คือจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4
จากความหมายข้างต้นจะเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกัน 4 ประการ เมื่อสงฆ์ทำสังฆกรรมเรื่องกฐินเสร็จแล้ว และประชุมกันอนุโมทนากฐินคือแสดงความพอใจ ว่าได้ กรานกฐิน เสร็จแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี คำว่ากรานกฐิน คือการลาดผ้า หรือทาบผ้าลงไปกับกรอบไม้แม่แบบเพื่อตัดเย็บ ย้อม ทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง

ยังมีคำอีกคำหนึ่งที่เราได้ยินกันก่อนจะมีการทำบุญกฐิน คือ การจองกฐิน หมายถึงการแสดงความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือด้วยวาจาต่อทางวัดว่าจะนำกฐินมาถวาย เมื่อนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน แต่จะต้องภายในเขตเวลา 1 เดือน ตามที่กำหนดในพระวินัย (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)

            อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินในขณะที่มีพิธีการทอดกฐินคือคำว่า 
อปโลกน์กฐิน หมายถึงการที่ภิกษุรูปใดรุปหนึ่งเสนอขึ้นในที่ประชุมสงฆ์ถามความเห็นชอบว่าควรมีการกรานกฐินหรือไม่ เมื่อเห็นชอบร่วมกันแล้วจึงหารือกันต่อไปว่า ผ้าที่ทำสำเร็จแล้วควรถวายแก่ภิกษุรูปใด การปรึกษาหารือการเสนอความเห็นเช่นนี้เรียกว่า อปโลกน์ (อ่านว่า อะ-ปะ-โหลก) หมายถึง การช่วยกันมองดูว่าจะสมควรอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เมื่ออปโลกน์เสร็จแล้วต้องสวดประกาศเป็นการสงฆ์ จึงนับว่าเป็นสังฆกรรมเรื่องกฐินดังกล่าวไว้แล้วในตอนต้น
            ในปัจจุบัน มีผู้ถวายผ้ามากขึ้น มีผู้สามารถตัดเย็บย้อมผ้าที่จะทำเป็นจีวรได้แพร่หลายขึ้น การใช้ไม้แม่แบบอย่างเก่าจึงเลิกไป เพียงแต่รักษาชื่อและประเพณีไว้โดยไม่ต้องใช้กรอบไม้แม่แบบ เพียงถวายผ้าขาวให้ตัดเย็บย้อมให้เสร็จในวันนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งนำผ้าสำเร็จรูปมาถวายก็เรียกว่าถวายผ้ากฐินเหมือนกัน

            และเนื่องจากยังมีประเพณีนิยมถวายผ้ากฐินกันแพร่หลายไปทั่วประเทศไทยจึงนับว่าเป็นประเพณีนิยมในการ
บำเพ็ญกุศล เรื่องกฐินนี้ยังขึ้นหน้าขึ้นตาเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมไปกับการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไปในขณะเดียวกัน 






ความพิเศษของกฐินทาน


ในปีหนึ่ง แต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงครั้งเดียว นอกจากนั้นแล้วกฐินทานก็มีความพิเศษแตกต่างจากทานอย่างอื่น ได้แก่
1. จำกัดประเภททาน 
คือ ต้องถวายเป็นสังฆทานเท่านั้น จะถวายเฉพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเหมือนทานอย่างอื่นไม่ได้ 
2. จำกัดเวลา 
คือ ต้องถวายภายในระยะเวลา เดือน นับแต่วันออกพรรษาเป็นต้นไป 
3. จำกัดงาน 
คือ พระภิกษุที่กรานกฐินต้องตัด เย็บ ย้อม และครองให้เสร็จภายในวันที่กรานกฐิน 
4. จำกัดไทยธรรม 
คือ ผ้าที่ถวายต้องถูกต้องตามลักษณะที่สงฆ์กำหนดไว้ 
5. จำกัดผู้รับ 
คือ พระภิกษุผู้รับกฐิน ต้องเป็นผู้ที่จำพรรษาในวัดนั้นโดยไม่ขาดพรรษา และมีจำนวนไม่น้อยกว่า รูป 
6. จำกัดคราว 
คือ วัดๆ หนึ่งรับกฐินได้เพียงปีละ ครั้งเท่านั้น 
7. เป็นพระบรมพุทธานุญาต 
ทานอย่างอื่นทายกทูลขอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาต เช่นมหาอุบาสิกาวิสาขาทูลขออนุญาต
ถวายผ้าอาบน้ำฝน แต่ผ้ากฐินนี้พระองค์ทรงอนุญาตเอง นับเป็นพระพุทธประสงค์โดยตรง

แหล่งข้อมูลจาก http://www.watpaknam.org/content.php?op=katin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น